Dr.Parichat Varavarn Na Ayudhya
ปรับแต่งแอพพลิเคชันยังไงให้ติดอันดับต้นๆของแอพสโตร์ (App Store Optimization หรือ ASO)
ทุกวันนี้ นักการตลาดดิจิทัล ต้องยอมรับแต่โดยดีว่า App Store Optimization หรือที่เรียกว่า ASO ไม่ใช่เรื่องหมูๆ เพราะต้องใช้เวลาไม่ต่างจากการทำ SEO (Search Engine Optimization)

โดยส่วนใหญ่แล้ว มักจะทุ่มเทงบประมาณลงไปซื้อ Mediaซะมากกว่าไม่ว่าจะเป็นFacebook หรือ Google App in stall เพราะเร็วทันใจกว่า แต่สำหรับ SME หรือ Start Up ที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยการมี Application เป็นของตัวเองนั้น ASO น่าจะเป็นหนทางที่ยั่งยืนกว่าและเห็นผลจริงในระยะยาว

ทำไมต้อง ASO?
อย่างที่เกริ่นไป การกระตุ้นให้คนเห็นแอปพลิเคชันได้ด้วยการใช้ ASO อย่างมีประสิทธิภาพเป็นวิธีที่ยั่งยืนที่สุด ถ้าหากไม่อยากให้ Application ของคุณกลายเป็น ซอมบี้แอป เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่า จะวางแผนทำ ASO หรือ App Store Optimization กันได้อย่างไรบ้าง
ASO แบ่งออกเป็น 2 ด้านสำคัญ ได้แก่ ASO หลักและ ASO รอง ASO หลักมีอิทธิพลมากที่สุดต่ออันดับแอปพลิเคชันของคุณ ส่วน ASO รองนำเสนอปัจจัยอื่นๆ ที่ช่วยให้แอปพลิเคชันได้อันดับดีขึ้นเมื่อมีผู้ใช้งานเข้าค้นหา
ปัจจุบันจากสถิติของผู้ใช้งานในแอพสโตร์ ร้อยละ 63 เจอแอพพลิเคชัน จากการค้นหา แต่เป็นที่น่าเสียดายที่แอปพลิเคชันร้อยละ 73 ในแอปสโตร์ถูกเรียกว่า ซอมบี้แอป (zombie apps) เพราะผู้ใช้งานไม่เคยเห็น เฉพาะในกูเกิ้ลเพลย์ (Google play) ก็มีแอพพลิเคชันประมาณ 1.1 ล้านตัวที่ไม่เคยผ่านตาใครเลย ฟังดูยากเย็นเอาการเลยทีเดียวนะคะกว่าจะเข็นให้ขึ้น
ASO ต่างกับ SEO ยังไง?
ASO ต่างจาก SEO เพราะในปัจจุบันการทำ SEO มีเครื่องมือและซอฟท์แวร์มากมายที่ช่วยวางกลไกการทำงานให้การค้นหาง่ายขึ้นมาก ส่วน ASO นั้นต้องอาศัยการลองผิดลองถูกด้วยตัวเองซะมากกว่า เพราะส่วนใหญ่ มุ่งเน้นไปที่การสร้างคีย์เวิร์ด (keyword) จากลักษณะสำคัญและเฉพาะของแอปพลิเคชันนั้นๆของคุณ เช่น ประเภทของแอปพลิเคชัน คุณสมบัติของแอปพลิเคชันของคุณแก้ไขปัญหาอะไรเป็นสำคัญและฟังก์ชั่น การใช้งานของแอปพลิเคชัน นั้นช่วยในเรื่องอะไร แต่ก็พอมีข้อมูลให้ศึกษาอยู่บ้างในเรื่องของการใช้เครื่องมือช่วยต่างๆในการทำASO
สามารถดาวน์โหลด App Store Optimization Tools 2017 Guide โดย Business of App ได้ที่นี่ค่ะ ดาวน์โหลด
ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ เช่น ถ้าหากแอปของคุณ เป็นแอปที่มีคุณสมบัติเรื่องของการวางแผนภาษี คุณต้องใช้จินตนาการว่า คนใช้แอปจะเสิร์ชหาคำใดบ้าง ที่มีโอกาสมาเจอแอปพลิเคชันของเราด้วย ซึ่งผู้เขียนคิดมาได้หนึ่งคำซึ่งเป็นเทรนด์ค้นหา Forever นั่นคือคำว่า "วางแผนการเงิน" พิมพ์คำค้นหาตรงๆ ว่า "วางแผนการเงิน" ซึ่งจะมี Application ปรากฎขึ้นมาตามภาพ

แล้วถ้าหาเราลองพิมพ์คำว่า "วางแผนภาษี" บ้างหล่ะจะเห็นได้ว่า ไม่มีใครคิดจะฉกฉวยโอกาสในการครอบครอง Keyword นี้ไว้ด้วยเลย โดยมุ่งไปแย่งชิง Keyword "วางแผนภาษี" อย่างเดียว ตามภาพ

ทีนี้ล่ะก็ เมื่อหลายแอปมาแย่งชิง Keyword ตัวเดียวกันแบบนี้ ในการจัด Ranking ให้ผลการค้นหาอยู่ใน Top Rank ล่ะก็ขึ้นอยู่กับ ASO รอง ต่างๆแล้วว่า แอปของใครมี Quality Score ที่ดีกว่า
อีกซักตัวอย่างถ้าแอปของคุณเป็นแแอพที่เกี่ยวกับการ "วัดแคลลอรี่" คุณควรต้องบรรจุคีย์เวิร์ดคำว่า "ลดน้ำหนัก" ไปด้วยอย่างนี้เป็นต้น เพื่อให้แอพปรากฎในอันดับต้นๆ จะเห็นได้ว่า การทำ ASO สำคัญที่การวางโครงสร้าง Keyword ที่มีความ relevance หรือ Keyword ที่เกี่ยวข้องในการค้นหา
งั้นเรามาดูขั้นตอนการวางแผน ASO เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการหาคีย์เวิร์ดให้แอปพลิเคชันของคุณกันดีกว่าค่ะ
เข้าใจการทำงานของ ASO หลัก
ASO หลักเป็นเรื่องของการหาคีย์เวิร์ดที่จะช่วยให้แอปพลิเคชันอยู่อันดับต้นเมื่อผู้ใช้งานเข้าค้นหา เป้าหมายของ ASO หลัก คือ หาคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องมากที่สุดเพื่อใช้เป็นชื่อแอปพลิเคชัน ของคุณและคำอธิบาย (description) ขั้นตอนการค้นหาคีย์เวิร์ดอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับแอปพลิเคชันของคุณมีดังต่อไปนี้
ขั้นที่1 สร้างคีย์เวิร์ดที่กำหนดวัตถุประสงค์หลักสำหรับแอปพลิเคชันของคุณ คีย์เวิร์ดนี้ต้องอธิบายว่าแอปพลิเคชันของคุณแก้ปัญหาอะไรเป็นหลัก หรือถ้าเป็นเกมส์ เป็นเกมส์ประเภทใด
ขั้นที่2 สร้างคีย์เวิร์ดจากฟีเจอร์หรือฟังก์ชั่นหลัก คีย์เวิร์ดเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานการหาข้อมูลจริงในแอปสโตร์ที่คุณตั้งใจจะขึ้นแอปพลิเคชัน
ขั้นที่3 ทดสอบคีย์เวิร์ด การทดสอบคีย์เวิร์ดของคุณโดยลองค้นหาเองจะช่วยให้คุณสร้างคีย์เวิร์ดที่ทำให้แอปพลิเคชันของคุณอยู่อันดับสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้
ตัวอย่าง
3.1 กรอกคีย์เวิร์ดหลักของคุณ แล้วดูว่ามีเสิร์ชเทอร์ม (search term) หรือคำที่ค้นหาอะไรขึ้นมาบ้าง เช่น ในกูเกิ้ลเพลย์สโตร์ (Google Play store) ค้นหาคำว่า “สูตรอาหาร” แล้วดูว่ามีเสิร์ชเทอร์มอะไรขึ้นมาอีกบ้างใต้แถบค้นหา (search bar) จะเห็นผลการค้นหาที่มีประโยชน์จำนวนมาก จึงควรจำคำเหล่านั้น และรูปแบบเอาไว้ ในกรณีนี้ เราพบคำว่า “ฟรี” ขึ้นมาอย่างน้อย 3 ครั้ง ถ้าคุณมีแอปพลิเคชันฟรี ก็ควรจำไว้ด้วย


3.2 กรอกคีย์เวิร์ดอื่นๆ ทีละคำเทียบกับคีย์เวิร์ดหลัก แล้วบันทึกเสิร์ชเทอร์มที่ขึ้นมา ขอยกตัวอย่างเรื่อง คีย์เวิร์ดคำว่า “สูตรอาหาร” ต่อ ลองใช้คำว่า สูตรอาหาร + ไทย แล้วดูว่ามีเสิร์ชเทอร์มอะไรขึ้นมาอีกบ้าง ซึ่งเป็นไปได้หลายอย่าง บางตัวเลือกก็น่าสนใจเพราะมีคีย์เวิร์ดหลายคำต่อกัน (long-tail keyword) (ซึ่งลงรายละเอียดมากขึ้น ทำให้การผลค้นหาเจาะจงยิ่งขึ้น) ดังในตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่า ปรากฎคำว่า "สูตรอาหารไทย และวิธีทำ" ซึ่งเป็นไอเดีย Keyword ที่น่าสนใจ แต่ถ้ากรอกคีย์เวิร์ดรวมกันหลายคำแล้วไม่พบผลการค้นหาก็ให้จำและบันทึกไว้ว่าไม่พบผลการค้นหา

3.3 เมื่อลองคีย์เวิร์ดอื่นๆ ทีละคำร่วมกับคีย์เวิร์ดหลักแล้ว ควรเริ่มสลับจับคู่คำจากผลที่มีในไฟล์เอ็กเซล สำหรับการผสมคีย์เวิร์ดเพื่อได้ผลการค้นหามากที่สุด อย่าใช้คีย์เวิร์ดเกิน 3 คำ! เช่น สูตรอาหาร+ไทย+วิธีทำ (อันนี้ถือว่า 3 คำ) เพราะถ้าใช้คีย์เวิร์ดมากกว่านี้ อาจหาเสิร์ชเทอร์มไม่พบหมายความว่าไม่มีคนใช้กลุ่มคีย์เวิร์ดนี้เพื่อค้นหาแอปพลิเคชันที่คล้ายคลึงกัน
3.4 การตั้งชื่อแอปพลิเคชัน สำคัญมากนะคะ ถ้าเราสามารถใช้กลุ่มคีย์เวิร์ดที่มีประสิทธิภาพ ที่อยู่ในกลุ่มคำค้นหา เพื่อนำมาเป็นไอเดียตั้งชื่อแอปพลิเคชันของคุณ ก็มีส่วนช่วยให้รอกจากการติดอยู่กลุ่มซอมบี้แอปได้ในระดับนึง หากหรือบางคนยังยึดติดกับการตั้งชื่อแอปที่ดูเท่ห์ๆ ดูล่ำ มีความเป็นยูนิค ถามว่าได้หรือไม่ ตอบว่าได้ ... ถ้าคุณคือยักษ์ใหญ่ ที่มีงบทางการตลาดมากพอ ที่จะสร้าง Awareness ให้คนจดจำได้ อย่าง Uber หรือ Grab
4. คอยติดตามดูแอปพลิเคชันคู่แข่งและประสิทธิภาพการใช้คีย์เวิร์ดของเค้า และหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนชื่อแอปพลิเคชันของคุณ เว้นซะแต่จำเป็นจริงๆ เพราะการเปลี่ยนชื่อแอปพลิเคชัน หลายครั้งอาจส่งผลให้แอปพลิเคชันไม่ประสบความสำเร็จก็เป็นได้
ASO รอง ส่วนเสริมให้แอปขยับอยู่อันดับสูงขึ้นได้
ASO รอง เป็นปัจจัยที่จะช่วยทำให้ แอปพลิเคชัน ขยับอยู่อันดับสูงขึ้นได้ เกณฑ์เหล่านี้มาจาก อัลกอริทึ่มของการวัดผล ASO เร่ิมตั้งแต่ Popularity นั่นคือ จำนวนครั้งของการดาวน์โหลดและคุณภาพของรีวิว ยิ่งแอปพลิเคชันของคุณถูกดาวน์โหลดมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้อันดับสูงขึ้นเท่านั้น ยิ่งได้รีวิวดีเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้อันดับสูงขึ้นเท่านั้น ดังนั้นผู้สร้างแอปหรือผู้ผลิตแอปพลิเคชันนั้นๆ จึงต้องตอบคำถาม 2 ข้อ นี้ให้ได้
จะให้คนดาวน์โหลดและติดตั้งแอพพลิเคชันของเราได้อย่างไร?
ก่อนอื่น ต้องมีแอปพลิเคชัน ที่ทำงานได้ดีเยี่ยม และให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์การใช้งาน (UX) ที่เป็นเลิศ ซึ่งทำให้สำเร็จได้ยากมาก เพราะมีแอปพลิเคชันมากมายออกใหม่ทุกวันทุกเดือน
ในส่วนนี้ ผู้เขียนแนะนำให้อ่านบทความของ Jenny Gove หัวหน้าทีมวิจัย UX ของ Google จะอธิบาย หลักการสร้างแอป 25 ข้อเพื่อให้ผู้ใช้แอพได้รับสิ่งที่ต้องการ และอีกหนึ่ง กรณีศึกษาที่น่าสนใจในเรื่อง In-Depth UX Review : Mobile app travel โดย Michelle P., Savvy Experience Expert ดาวน์โหลด ได้ที่นี่ค่ะ

ปัจจัยสำคัญต่อมา คือ ทำให้คนรู้จักแอพพลิเคชันของคุณโดยใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ ในที่นี้สามารถศึกษา วิธีเพิ่มยอดดาวน์โหลดแอปโดยใช้ media ชนิดต่างๆ ของ Google ที่เตรียมคู่มือไว้ให้ได้
การทำการตลาดในหลากหลายช่องทาง (Multi Chanel) ก็เป็นเรื่องสำคัญ ควรทำการวางปุ่มดาวน์โหลดไว้ ในหน้าเวปไซต์ของคุณและมีการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ และอย่าลืมทำการ Tracking ด้วย ว่าผู้ใช้แอปพลิเคชันของคุณ ดาวน์โหลด แอปพลิเคชันของคุณมากจากที่ไหน โดย Tool Free ที่ใช้กันอยู่ก็มีมากมาย เป็นที่นิยมกันส่วนใหญ่ เช่น app flyer เว้นเสียแต่ว่าแอปพลิเคชั่นที่คุณผลิตเป็นแอปของธนาคารฯหรือสถาบันการเงิน อันนี้ พูดคำเดียวว่า ยากเย็นแสนเข็ญ ติด Tracking อะไรกันทีต้องผ่านหน่วยงานที่ดูแลด้านความเสี่ยง ซึ่งทำให้เสียโอกาสทางการตลาดไปมากมาย เพราะสร้างแอปมาแบบที่เรียกว่า ทำการตลาดแบบ bline date เลยทีเดียว นักการตลาดดิจิทัลสายนี้ ต้องหา Solution ที่รัดกุมมานำเสนอให้ผ่านโปรเจคเอาเอง ตรงนี้อยากจะขอนำเสนอเรื่องการทำ Mobile Marketing มาเล่าแบบเจาะในครั้งหน้าค่ะ
จะโน้มน้าวให้ผู้ใช้งานรีวิวแอปพลิเคชันของเราได้อย่างไร?
วิธีที่ดีที่สุดคือถามผู้ใช้งานในช่วงจังหวะที่เหมาะสม เมื่อพวกเค้ากำลังได้รับประสบการณ์การใช้งาน (UX) หากถามเร็วเกินไป ก็จะสร้างความรำคาญให้ผู้ใช้งาน หากถามช้าเกินไป อาจไม่ได้รับรีวิวเลย ในการกระตุ้นให้ผู้ใช้งานรีวิวแอปพลิเคชัน คุณควรให้สิ่งจูงใจบางอย่าง เช่น แจกของฟรี สะสมแต้ม หรือ โบนัส อะไรก็ตามที่จะดึงดูดให้คนรีวิวแอพพลิเคชั่นของคุณ

อย่ากลัวที่จะขอผู้ใช้งานเพื่อให้รีวิวหลายครั้ง แค่ระวังว่าอย่าขอบ่อยจนเกินไป เพราะจะทำให้ผู้ใช้งานรำคาญและอาจให้รีวิวไม่ดี แอปพลิเคชันที่ได้รีวิวดีก็จะได้รับการจัดอันดับสูงกว่าแอปพลิเคชันที่ได้รีวิวไม่ดี ดังนั้น คุณควรตั้งเป้าหมายให้ได้สี่หรือห้าดาว ถ้าแอปพลิเคชันของคุณไม่ได้สี่ดาวเป็นอย่างน้อย ให้อ่านคำติชมของผู้ใช้งานและปรับปรุงตามนั้น
เคสนี้ผู้เขียนต้องบอกว่า หลายต่อหลายครั้ง มีความพยายามของเจ้าของแอปบางราย จ้างคนทำการเขียนรีวิว ปรากฎว่าไม่รอดสายตาของ Bot ไปได้ การรีวิวที่ต้องเสียเงินมหาศาลในครั้งนั้นก็จะสูญเปล่าไป ทางที่ดี ค่อยๆทำค่อยๆ ศึกษาดีกว่าค่ะ ถึงจะใช้เวลาหน่อยแต่สบายใจได้ ในส่วนนี้ผู้เขียนแนะนำให้ติด Tracking เพื่อดู พฤติกรรมภายในแอปประกอบ Tool free ที่สามารถทำ In App Tracking แบบเบสิคเช่น Google Analytic หรือ Facebook App Developer นี่หล่ะค่ะ ไม่ต้องมองหาไกล หรือจะใช้แบบเสียเงินที่สามารถศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้แบบเจาะลึก ผู้เขียนเคยใช้ Mixpanel (ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อไปแล้ว) ตัวนี้ดี้ดีค่ะ แต่ก็แพงเพราะคิดค่าบริการตามจำนวน User Download จะได้เข้าใจพฤติกรรมและนำมาพัฒนาแอปของเรา เพื่อให้ผู้ใช้งานประทับใจและให้รีวิวที่ทำให้รู้สึก WoW กับเราในที่สุด
Bonus Track :
มี Tool Free มาฝากกันค่ะ สำหรับใครที่อยากทราบ Market Data ของ ตลาด Mobile App จากทั่วโลก ข้อมูลมีครบถ้วนทั้ง rankings, ratings, reviews และ keywords ครบทุก categories app ไปใช้กันได้เลยค่ะ ที่นี่ น้า
ส่วนคนที่อยาก Track App ของตัวเอง หรือการทำ App Analytic free! ก็สมัครกันได้ ที่นี่ ค่า
เมื่อใช้ ASO หลักและ ASO รองร่วมกันแล้ว คุณก็จะมีแอปพลิเคชันติดอันดับต้นในทุกแอปสโตร์