Dr.Parichat Varavarn Na Ayudhya
แนวคิดดีๆจากหนังสือ Bakery & I ชีวิต ดนตรีและเบเกอรี่
อัปเดตเมื่อ 10 พ.ย. 2565

หลายปีก่อน เมื่อยังพอมีเวลาไปเดินเข้าร้านหนังสือบ่อยๆ ก็ไปเตะตาเอาเข้ากับหนังสือที่ชื่อว่า "Bakery & I"เพราะมีโลโก้ของ Bakery หรือ เบเกอรี่ มิวสิค ค่ายเพลงที่ผู้เขียนติดตามผลงานมากที่สุดก็ว่าได้ ตอนนั้น แทบจะน้อยครั้งมาก ที่จะไม่ได้ไปดูคอนเสิร์ตที่เบเกอรี่จัด หนังสือนี้ถึงแม้จะถูกเขียนมานานแล้ว แต่ยังมีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย และเป็นแง่คิดที่ดีมากสำหรับยุคนี้ ยุคที่คนหลายคนเรียกตัวเองว่าเป็นพวก "Dare to Dream"
หลายคนเลือกที่จะไม่เป็นลูกจ้างบริษัท ไม่สนว่าจะต้องทำงานองค์กรใหญ่ มักรวมตัวกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกัน เปิดบริษัท เป็น Start Up แค่ขอให้ได้ทำในสิ่งที่ชอบและมี Passion แต่จะมีกี่คนที่ประสบความสำเร็จไปด้วยกันแบบตลอดรอดฝั่ง ไม่ทะเลาะหรือแตกคอกันซะก่อน ตัวอย่างก็มีให้เห็นตั้งแต่เรื่องของ พี่มาร์ค ซักเคอเบิก ในภาพยนตร์เรื่อง "The Social Network" มาแล้ว อีกเรื่องอย่าง สตีฟ จ็อบส์ ในภาพยนตร์เรื่อง "อัจฉริยะเปลี่ยนโลก" ที่นิสัยส่วนตัว ความหัวดื้อของเค้า ทำให้เพื่อนที่ร่วมหัวจมท้ายด้วยกันมาค่อยๆเดินออกจากชีวิตของเขาทีละคน

มิตรภาพ บวกความฝันของคนสี่คน และการเติบโตแบบก้าวกระโดด หนังสือเล่มนี้ มีคุณสุกี้ กมล สุโกศล แคลปป์ เป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราว ถึงความพยายามร่วมกันทำงานเพลง ซึ่งเป็นความฝันของคนสี่คน ในตอนนั้นมี คุณบอยโกสิยพงษ์ คุณสมเกียรติ อริยชัยพานิช คุณเอื้อง สาลินี ปัญญารชุน และตัวคุณสุกี้เอง ...คุณสุกี้เล่าว่า คาแรคเตอร์ของคนที่สี่คนและไลฟ์สไตล์ของพวกเค้า แทบจะต่างกันโดยสิ้นเชิง คุณสมเกียรติและคุณบอย จะเป็นคนที่ช่างฝันและมีจินตนาการสูงมาก หน้าที่ของคุณเอื้อง สาลินี ดูแลรับผิดชอบงาน Marketing และ PR ค่ายเพลงในตอนนั้น ส่วนคุณสุกี้ ก็ช่วยดูด้านบริหารและการทำเพลงควบคู่กันไป
...ด้วยการทำงานที่ค่อนข้างขัดแย้งกันในบางที งานในเบอเกอรี่ดูไม่ค่อยจะราบรื่นนัก ในขณะที่ ภายนอก...แฟนเพลงดูเหมือนจะเฝ้ารอและชื่นชมในผลงานที่มีออกมาอย่างเหนี่ยวแน่น แต่นั่นหล่ะ แล้ว..มันเกิดไรขึ้นต่อมา…
ทิศทางของเบเกอรี่ ท่ามกลางความขัดแย้ง มีตอนนึงคุณสุกี้ เล่าถึงที่มาของวงพอสว่า "ในเวลานั้น นิตยสารบันเทิงคดี โดยมาโนช พุฒตาล ได้จัดกิจกรรม College Artist ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปินระดับมหาวิทยาลัยมาแสดงฝีมือกัน และทำให้ผมได้พบกับนักดนตรีอย่าง Pause หรือ โป้ ปิยะ" (อันนี้บอกตามตรงว่าก็เพิ่งได้รู้ที่มาตอนอ่านหนังสือนี่แหละว่าจุดกำเนิดของวงพอส และพี่โป้ โยคีเพลบอยเค้ามาจากไหน) ซึ่งในตอนนั้น ทั้งสองศิลปิน ก็เป็นเหมือนแรงไฟที่ช่วยโหมกระแส ให้ค่ายเพลงที่ชื่อว่า "เบเกอรี่ มิวสิค" โด่งดังสุดขีดในเวลาต่อมา

2540 เบเกอรี่ เป็นค่ายเพลงที่ทุกคนต้องหันมาจับตามอง แม้กระทั่งค่ายใหญ่ ...คุณสุกี้บอกว่า คายใหญ่ๆยังต้องนั่งประชุมเพื่อมาช่วยกันวิเคราะห์ว่า แผนธุรกิจของเบอเกอรี่มิวสิค เป็นยังไง ซึ่งคุณสุกี้บอกเลยว่า "ไม่มี" เพียงแต่พวกเค้า ทำสิ่งที่ตรงกันข้ามกับค่ายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำเพลงหรือการทำธุรกิจ และด้วยจังหวะเวลาที่เหมาะสม เราจึงประสบความสำเร็จ
....พอถึงจุดนี้ชวนให้คิดว่า คนที่เริ่มทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน อย่าคาดหวัง และอย่าอาศัยเพียงคำว่า "ฟลุค" เมื่อคุณแค่ โหนกระแสใดกระแสหนึ่ง ที่ทำให้สินค้าหรือบริการคุณติดลมบน เพราะนั่นอาจเป็นแค่ช่วงระยะเวลาเดียวเท่านั้น....การมีแผนงานรองรับที่ดีต่างหาก การทำ scenario หรือเขียนแผนธุรกิจ แม้กระทั่งการสร้าง Prototype ก่อนจะจัดตั้งธุรกิจ หรือก่อนสร้างสินค้าหรือบริการต่างๆขึ้นมา สำคัญมากนะคะ เพราะถ้าคุณล้ม..มันยังเรียกว่าแค่ "ล้มบนฟูก" ลองไปดูวิธีง่ายๆ เช่น การเขียน Business Model Canvas (BMC) "ท่ามกลางความสำเร็จในสายตาคนภายนอก ไม่มีใครเลยที่จะคาดคิดว่า จะกลับกลายเป็นปีที่มีปัญหาเกิดขึ้นในมุมมองของพวกเรา 4 คน สัญญาณความขัดแย้งเกิดขึ้นในช่วงกลางปี" คุณสุกี้ กล่าว คุณสุกี้เล่าว่า โดยปกติวิธีการทำงานของพวกเค้า ในหนึ่งปี ผู้บริหารทั้งสี่จะต้องมานั่งเจอกันแบบพร้อมหน้า 3-4 ครั้งเป็นอย่างน้อย โดยเฉพาะในเวลาที่มีความเห็นไม่ตรงกัน คุณจะต้องเอาปัญหามากางบนโต๊ะเพื่อจะเคลียร์กัน เพราะไม่อย่างนั้นจะทำงานด้วยกันลำบาก แม้ว่าถึงคราวตัดสินใจจริงระหว่าง 4 คน มันจะต้องมีกรณี 3 คนที่คิดว่า "ไม่ได้" และย่อมต้องมีคนหนึ่งผิดหวังในที่สุด ครั้งหนึ่ง คุณสุกี้ ได้คุยกับคุณ Michael ผู้บริหารค่าย BMG ว่า ทำยังไงเทปถึงขายได้? "ไม่มีใครรู้หรอก" คุณ Michael ตอบ เรื่องแบบนี้ไม่มีใครรู้ 100% "แต่ที่ผมรู้ก็คือ "เมื่อไหร่ก็ตามที่เทปขายไม่ดี ศิลปินก็จะบอกว่า จัดจำหน่ายไม่ดี ส่วนจัดจำหน่ายก็จะบอกว่าเป็นเพราะว่า มาร์เก็ตติ้งไม่ดี และมาร์เก็ตติ้งก็จะบอกว่า เพลงไม่ดี วนเวียนกันอยู่อย่างนี้" ถ้าอย่างนั้นเราควรจะทำอย่างไรดีล่ะ?" วิธีเดียวที่จะผ่านพ้นปัญหานี้ไปได้ ก็คือ..เขาตอบว่า "คุณจะต้องไว้ใจกัน"
คุณเห็นอะไรจากเรื่องเหล่านี้มั้ยคะ มันมีขัอคิดเหมือนกันนะ..ถ้าบังเอิญในชีวิตของคุณ ต้องพบกับความขัดแย้งแบบนี้หล่ะ จะทำยังไงดี...น่าคิดอยู่นะคะ อย่างนั้น ขอหยิบเอาเรื่องราวของ "วิธีการจัดการความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์" มาฝากกันค่ะ ก่อนอื่น เราต้องมาดูก่อนว่าอะไรคือสาเหตุของความขัดแย้ง????

1. ความไม่พอเพียงของทรัพยากร ทำให้เกิดการแข่งขัน แย่งชิง ใช่เลยค่ะ เพราะบางทีคนเราก็สามารถแย่งชิงให้ได้มาซึ่งทุกอย่างเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของตัวเอง จนบางครั้งละเลยความรู้สึกและความสัมพันธ์ของทีมงานและเพื่อนร่วมงาน ถึงแม้จะต้องเหยียบย่ำความรู้สึกดีๆเหล่านั้นทิ้งไป เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตัวเองต้องการ หรือบางคนทำธุรกิจแบบเดียวกัน คล้ายกัน ก็ไม่สนแล้วหล่ะเดี๋ยวนี้ แย่งตัวซื้อตัวคนทำงานกันมาให้วุ่น บางที..คนที่โดนซื้อตัวไป ยังทำงานหรือโปรเจคให้เจ้าของเดิมไม่จบเลยด้วยซ้ำ..ทิ้งกันไปเห็นๆ ต้องระวังนะคะจุดนี้ 2. ลักษณะของงานที่ต้องพึ่งพากัน ถ้าหน่วยงานหรือบุคคลกลุ่มใดมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ความขัดแย้ง ก็จะมีความแปรผันและรุนแรงมากขึ้น อย่างเคสของค่ายเบเกอรี่ จะเห็นว่าพอสินค้าหรือบริการขายไม่ดี..เริ่มมีการโยนความผิดบ้าง โทษกันบ้าง Marketing ไม่เก่ง Product ไม่ดูเรื่อง UX/UI ซึ่งจริงๆ แล้ว มันต้องช่วยกันหาต้นตอของสาเหตุร่วมกันหรือเปล่า วิธีทำงานแบบ Lean Startup เป็นอีกวิธีที่ง่าย และนำไปใช้ได้จริง หลักการสำคัญของ Lean Startup ที่ว่าด้วย การสร้าง (Build) : สร้างให้เร็วที่สุด วัดผล (Measure) : นำสิ่งที่สร้างขึ้นมาไปเก็บฟีดแบ็คและวัดผลในด้านต่างๆที่อยากรู้เรียนรู้ (Learn) : นำข้อมูลที่ได้มาเรียนรู้เพื่อนำไปสร้าง (Build) ฟีเจอร์ใหม่ๆต่อไป ทำร่วมกันซะ แล้วไม่ต้องโทษกันน้า.. 3. การสื่อสารที่ไม่ชัดเจน อันนี้พีคค่ะ บ่อยครั้งที่คุยกันไม่เคลียร์ ไม่เข้าใจ และถกเถียงกันตอนประชุมไม่จบไม่สิ้น..เวลาประชุม หรือส่งเมล์เชิญประชุม ควรกำหนดหัวข้อ หรือหัวเรื่องที่จะคุยกันในคราวนั้นๆ และต่างคนต่างทำการบ้านมาก่อนจะคุย..ใช้เวลาที่คุยและสื่อสารกันอย่างมีประสิทธิภาพดีกว่านะคะ 4. ความคลุมเครือในเรื่องขอบเขตของงานและหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้อง การกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละคน ให้รู้ขอบเขต แบบชัดๆ กันไปเลย ตั้งแต่ในคราวแรกที่ตั้งโปรเจคดีที่สุดแล้ว ความไม่ชัดเจนของขั้นตอนการทำงาน และความซ้ำซ้อนของการมอบหมายงานของผู้บริหาร เรื่องเหล่านี้ มีอยู่ตลอด ด้วยความรีบอยากทำให้เกิดเร็วๆ ไม่ดีน้า 5. คุณลักษณะของแต่ละบุคคล เนื่องจากแต่ละคนมีความคิด ความคาดหวัง ความเชื่อ ค่านิยม ประเพณี การอบรมเลี้ยงดู การศึกษา ประสบการณ์ ความฝังใจ ที่ไม่เหมือนกันหรือแตกต่างกัน เอ้า...คนร้อยคน ใจร้อยใน สมองร้อยสมอง พอวิธีคิดวิธีทำไม่เหมือนกัน มีแน่นอนเรื่องการเถียงกัน ไม่จบ ในเรื่องของที่คุณสุกี้เล่า จะเห็นว่าวิธีแก้ง่ายๆคือ "คุณต้องไว้ใจกัน" จริงมั้ย ไม่มีใครเก่งไปซะทุกด้าน ดังนั้น ปล่อยให้คนที่เค้าเชี่ยวชาญจุดใดจุดหนึ่ง Lead ไปในงานที่เค้าชำนาญที่สุด ..เชื่อสิ 6. บทบาทและหน้าที่ เนื่องจากแต่ละท่านได้รับบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันไปในสถานการณ์นั้น ๆ นอกจากนี้ ภารกิจและเป้าหมายที่ได้รับก็แตกต่างกันไป ดังนั้น แนวคิด หลักคิดและบทบาทของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกัน จึงเป็นเหตุของความขัดแย้งได้อย่างเป็นอย่างดี คล้ายๆข้อห้าค่ะ คืออยากให้เคารพในบทบาทหน้าที่ซึ่งกันและกันด้วย นอกจากความเชื่อใจที่มีให้กันแล้ว แต่ถ้าให้เลือกได้ ก็พยายามจูนเข้าหากันดีกว่าค่ะ อย่าให้ต้องเกิดความขัดแย้งกันเลย..เพราะบางที แก้วที่มันร้าวแล้ว..ก็มักจะยังเหลือร่องรอยไว้ให้จดจำอยู่ดี แต่ถ้าหากหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็ลองใช้วิธีเหล่านี้ไว้เป็นแนวทางกันดูนะคะ...
ABOUT THE AUTHOR ดร.ปาริชาติ วรวรรณ ณ อยุธยา ที่ปรึกษาอิสระ นักจัดการและนักวิเคราะห์ความต้องการเทคโนโลยีสารสนเทศทางธุรกิจ I นักวางกลยุทธ์ Marketing Technology Iนักวางกลยุทธ์สื่อสารการตลาดดิจิทัล I Online Performance Marketing I Content Marketing Strategist และ SEO Specialist ให้กับองค์กรธุรกิจ ภาครัฐ เอกชน และ Start Up และอาจารย์พิเศษ ในมหาวิทยาลัย